ประกันชั้น 1

พ.ร.บ รถยนต์ คืออะไร คุ้มครองอะไรบ้าง ทำไมต้องทำประกันภาคบังคับ?


พรบรถยนต์

      เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้จักคำว่า พ.ร.บ. รถยนต์กันดีอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าใจดีนักว่า พ.ร.บ. คืออะไรกันแน่ เพราะหลายคนอาจรู้ว่าต้องชำระภาษีทะเบียนรถยนต์เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว พ.ร.บ. รถยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องต่ออายุในทุก ๆ ปีเช่นเดียวกัน จึงอาจทำให้หลายคนเกิดความสับสนระหว่าง พ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์ บทความนี้จะไขทุกข้อสงสัยของ พ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไร พร้อมทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ได้ในบทความนี้

 

พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร

        พ.ร.บ รถยนต์ หมายถึง ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยกำหนดไว้ว่าเจ้าของรถยนต์ที่มีชื่อตามในเล่มทะเบียนรถจะต้องต่อพรบรถยนต์ หรือประกันภัยภาคบังคับทุกปี และพรบรถยนต์ก็ถือว่าเป็นเอกสารสำคัญอีกชิ้นที่จำเป็นจะต้องใช้เมื่อต้องต่อภาษีรถยนต์ประจำปี เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ใช้งานทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และถ้าหากฝ่าไม่ทำ จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อกฎหมาย

        พ.ร.บ รถยนต์ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ประสบภัยจากการใช้งานรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ โดยไม่จำเป็นต้องดูว่าเป็นฝ่ายถูก หรือเป็นฝ่ายผิด หากเกิดอุบัติเหตุ เกิดความเสียหายขึ้น พรบรถยนต์ก็จะให้ความคุ้มครองที่ตามกฎหมายอย่างแน่นอน

 

ความสำคัญของการทำประกันภาคบังคับ พ.ร.บ. รถยนต์

      สิ่งสำคัญของการทำพ.ร.บ. รถยนต์ คือ พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ที่ถ้าหากเจ้าของรถยนต์ และจักรยานยนต์ไม่ได้ทำประกันภาคสมัครใจไว้ ก็ยังมีประกันภัยภาคบังคับที่เกิดจากการทำ พ.ร.บ. รถยนต์คอยให้ความคุ้มครองในส่วนหนึ่ง แต่ความสำคัญอีกอย่าง คือ การทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับจะช่วยให้ความคุ้มครองทั้งกรณีที่คุณเป็นฝ่ายถูก หรือฝ่ายผิด ประกันภัยภาคบังคับจาก พ.ร.บ. รถยนต์นี้ก็จะให้ความคุ้มอย่างแน่นอน

      และการประกันภัยภาคบังคับอย่าง พ.ร.บ. รถยนต์นี้ ถ้าหากไม่ได้ทำการต่ออายุ รถยนต์ของคุณก็จะไม่สามารถทำการเสียภาษีรถยนต์ได้ และเมื่อคุณขับขี่รถยนต์ที่ไม่ได้ทำการเสียภาษี โดยสังเกตได้จากป้ายภาษีที่เหลือ ที่แปะอยู่หน้ากระจกรถ ก็มีโอกาสที่ทำให้คุณต้องโดนตำรวจโบกเรียก และโดนใบสั่งเพราะผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน

 

พ.ร.บ.รถยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง

      โดยใจความสำคัญของประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ คือการมอบความคุ้มครองให้กับผู้ที่ประสบภัยจากการใช้รถ โดยที่ไม่สนว่าบุคคลนั้นจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้เสียหายก็จะได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ โดย พ.ร.บ. รถยนต์จะให้ความคุ้มครองที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

1.พ.ร.บ.รถยนต์ คุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น

      พรบรถยนต์จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ และบุคคลอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ ค่าเสียหายในกรณีทุพพลภาพ และเป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด โดยจะชดใช้ให้ผู้ประสบภัย หรือทายาทโดยธรรมภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับคำร้อง

1.ค่ารักษาพยาบาล ในกรณีที่บาดเจ็บ

      ได้รับค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท/คน

2.มีการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร 

      หากมีความรุนแรงถึงขั้นที่มีความเสียหายต่อร่างกายถึงขั้นการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร บริษัทประกันจะมีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท/คน

3.กรณีเสียชีวิต

      เกิดอุบัติเหตุขั้นรุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น ทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิตจะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท/คน

2.พ.ร.บ.รถยนต์ คุ้มครองค่าสินไหมทดแทน

      ในส่วนของค่าสินไหมทดแทน จะได้รับหลังจากมีการพิสูจน์ได้ว่าผู้ประสบภัยเป็นฝ่ายถูก จะมีจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

1.ค่ารักษาพยาบาล ในกรณีที่บาดเจ็บ

      ได้รับค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 85,000 บาท/คน

2.มีการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร 

      หากมีความรุนแรงถึงขั้นที่มีความเสียหายต่อร่างกายถึงขั้นการสูญเสียอวัยวะ จะได้รับค่าทดแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 – 500,000 บาท/คน เช่น การสูญเสียนิ้ว ได้รับค่าสินไหมทดแทนที่เฉลี่ย 200,000 บาท การเสียอวัยวะ 1 ส่วน ได้รับค่าสินไหมทดแทนที่เฉลี่ย 250,000 บาท การเสียอวัยวะ 2 ส่วน  ได้รับค่าสินไหมทดแทนที่เฉลี่ย 500,000 บาท และทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับจุดที่สูญเสียอวัยวะ และเงื่อนไขอื่นที่ข้อกฎหมายมีกำหนดไว้

3.กรณีเสียชีวิต

      เกิดอุบัติเหตุขั้นรุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น ทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิตจะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท/คน

4.กรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลแบบ “ผู้ป่วยใน”

      จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท ได้รับรวมกันสูงสุดไม่เกิน 20 วัน

 

พ.ร.บ. รถยนต์ ไม่คุ้มครองเรื่องอะไรบ้าง

        พรบรถยนต์ช่วยคุ้มครองผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์อุบัติเหตุแล้ว ก็ยังมีหลายกรณีที่ตัวพรบรถยนต์ไม่คุ้มครองหากเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

1.ขับขี่ออกนอกประเทศไทย

      พรบรถยนต์ หรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ไม่ให้ความคุ้มครองหากเกิดอุบัติเหตุนอกพื้นที่นอกประเทศไทย รวมประถึงประกันรถยนต์ภาคสมัครใจก็เช่นกัน ที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะในพื้นที่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ถ้าหากมีความจำเป็นจะต้องขับขี่ออกนอกประเภท ควรมีการทำประกันภัยรถยนต์รูปแบบอื่นที่ให้ความคุ้มครองเมื่อขับขี่ไปนอกประเทศไว้ด้วย

2.ความเสียหายที่เกิดจากการถูกยักยอก กรรโชก รีดเอาทรัพย์

      ในกรณีนี้พรบรถยนต์ไม่ได้ให้ความคุ้มครอง แต่เจ้าของรถยนต์ก็จำเป็นจะต้องไปแจ้งความเอาไว้ เผื่อคนร้ายนำรถไปชน และพรบรถยนต์ยังคุ้มครองคนร้าย จะได้สามารถติดตามคนร้ายได้

3.ใช้รถยนต์ในทางที่ผิดกฎหมาย

      ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ในกรณี ดักจี้ปล้นชิงทรัพย์ ขนยาเสพติด หรือสิ่งของผิดกฎหมาย รวมไปถือใช้เพื่อขนแรงงานผิดกฎหมาย ในกรณีนี้ทั้งพรบรถยนต์ที่เป็นประกันภัยภาคบังคับ และทั้งภาคสมัครใจก็ไม่ให้ความคุ้มครองอย่างแน่นอน

4.การแข่งขันความเร็ว

      การนำรถยนต์ไปแข่งความเร็ว ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างแน่นอน และพรบรถยนต์ก็ไม่ให้ความคุ้มครองในกรณีนี้ด้วยเช่นกัน

 

เบี้ยประกัน พ.ร.บ. รถยนต์แต่ละประเภทราคาเท่าไหร่

ค่าใช้จ่ายในการต่อพรบรถยนต์

 

ประเภทรถยนต์

ราคา

รถส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง 600 บาท
รถส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 15 ที่นั่ง 1,100 บาท
รถส่วนบุคคลเกิน 15 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 20 ที่นั่ง 2,050 บาท
รถส่วนบุคคลเกิน 20 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 40 ที่นั่ง 3,200 บาท
รถส่วนบุคคลเกิน 40 ที่นั่ง 3,740 บาท

 

ค่าใช้จ่ายในการต่อพรบรถจักรยานยนต์

 

ประเภทรถยนต์

ราคา

เครื่องยนต์ไม่เกิน 75 ซีซี 161.57 บาท
เครื่องยนต์ 75-125 ซีซี 323.14 บาท
เครื่องยนต์ 125-150 ซีซี 430.14 บาท
เครื่องยนต์ 150 ซีซีขึ้นไป 645.12 บาท

 

ไม่ทำ พรบรถยนต์ ผิดกฎหมาย

 

ไม่ทำประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ได้ไหม? มีความผิดตามกฎหมายหรือเปล่า?  

      การทำประกัน พ.ร.บ. คือการทำประกันภัยภาคบังคับ โดยเป็นหน้าที่ของเจ้าของรถทุกคนจะต้องทำกันเป็นปกติ ซึ่งการที่ไม่ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อกฎหมาย หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และจะไม่สามารถเสียภาษีรถยนต์ได้ ซึ่งส่งผลให้ป้ายทะเบียนขาดต่ออายุร่วมด้วย นอกจากนี้ การไม่ทำประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ ยังมีโทษตามกฎหมายอีก ดังนี้

  • ไม่ทำ พ.ร.บ. รถยนต์ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • เมื่อไม่ทำ พ.ร.บ. รถยนต์ ก็ทำให้ต่อภาษีรถยนต์ไม่ได้ การไม่ต่อภาษีรถยนต์ หากถูกจับจะเสียค่าปรับ 400-1,000 บาท และโดนปรับดอกเบี้ยเพิ่มเดือนละ 1% ในครั้งถัดไป และถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 3 ปี ทะเบียนรถจะถูกระงับการใช้งานและโดนโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทอีกด้วย
  • หากไม่ใช่เจ้าของรถ ขับขี่รถคันที่ไม่ได้ทำหรือไม่ได้ต่ออายุ ประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • หากเจ้าของรถไม่ทำ พ.ร.บ. รถยนต์ และได้นำรถไปใช้จะถูกปรับตามข้อ 1 และ 2 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

 

ประกันรถยนต์ชั้น 1 เบี้ยเริ่มต้นที่ 750 บาท

 

ซื้อประกัน พ.ร.บ. รถยนต์ล่วงหน้าได้ไหม?

      พ.ร.บ รถยนต์สามารถต่อล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือ 90 วัน 

 

กรณี พ.ร.บ รถยนต์หมดอายุ จะแก้ไขหรือป้องกันได้อย่างไร

การซื้อ พ.ร.บ รถยนต์ก่อนหมดอายุ

        พ.ร.บ รถยนต์ไม่สามารถทำการซื้อ และให้ความคุ้มครองย้อนหลังได้ ให้ความคุ้มครองรถยนต์เป็นเวลา 1 ปี สามารถซื้อความคุ้มครองล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน หากหมดอายุ และไม่ได้ทำการต่ออาจถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท

การซื้อ พ.ร.บ รถยนต์กรณีพรบหมดอายุนานแล้ว

        พ.ร.บ รถยนต์ หรือประกันภาคบังคับเป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับว่ารถยนต์ทุกคันต้องมี และไม่สามารถปล่อยให้พรบรถยนต์ขาดได้เลยแม้แต่วันเดียว  และอาจถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท

      แต่ถ้าหากขาดต่อพรบรถยนต์เป็นเวลา 3 ปี ก็จะส่งผลให้ทะเบียนของคุณโดนระงับ และจำเป็นต้องไปจดทะเบียนรถใหม่ที่กรมขนส่งทางบก และต้องยื่นจ่ายภาษีรถย้อนหลังด้วยค่าปรับในอัตรา 1% ต่อปี จึงจะสามารถขับรถได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

ต่อ พ.ร.บ รถยนต์ ต้องใช้อะไรบ้าง

        การต่อ พ.ร.บ รถยนต์ สามารถเข้าไปติดต่อกรมขนส่งทางบกของแต่ละพื้น หรือช่องทางอื่นๆ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ ห้างสรรพสินค้า ธนาคารเพื่อการเกษตร จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส และสามารถสมัครผ่านหน้านาย หรือตัวแทนประกันอย่าง SILKSPAN ได้เช่นกัน สามารถเตรียมเอกสารได้เลยดังนี้

  1. สำเนาบัตรประชาชน
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. สำเนาทะเบียนรถ หรือเล่มจริง

 

วิธีติดป้าย พ.ร.บ. รถยนต์

      หลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดว่าป้าย พ.ร.บ. รถยนต์ต้องติดไว้ที่กระจกหน้ารถ แต่แท้จริงแล้วป้าย พ.ร.บ. รถยนต์ ไม่จำเป็นต้องติดที่กระจกหน้ารถก็ได้ แต่ป้ายที่ติดกระจกหน้ารถเป็นป้ายภาษีรถยนต์ต่างหาก หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าป้ายวงกลม ที่ต้องติดกระจกหน้ารถเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกโดยกรมการขนส่งทางบก จะได้รับหลังจากที่ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์และชำระภาษีรถประจำปีเสร็จเรียบร้อย

      หากผู้ขับขี่ไม่ติดป้ายภาษีไว้ที่หน้ากระจกจะถือว่ามีความผิดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ตามมาตรา 11 ระบุไว้ว่า “เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีให้ติดที่ด้านในของกระจกกันลมด้านหน้ารถ โดยหันข้อความด้านหน้าของเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีออกด้านนอกรถ เว้นแต่รถจักรยานยนต์ รถพ่วง รถบดถนน รถใช้งานเกษตรกรรม และรถอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ติดในที่ที่สามารถมองเห็นข้อความด้านหน้าของเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีได้ชัดเจน บทกำหนดโทษตาม มาตรา 60 อัตรา โทษปรับไม่ควรต่ำกว่า 200 บาท แต่ไม่เกิน 2,000 บาท”

 

ข้อแนะนำในการทำพรบรถยนต์และการทำประกันภัย

อย่างที่ทราบกันดีว่า พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของรถควรใส่ใจและทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประกันรถยนต์ในกรณีที่รถยนต์เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน หรือการคุ้มครองให้กับบุคคลที่ประสบอุบัติเหตุ ดังนั้น เรื่องของประกัน พ.ร.บ. รถยนต์จึงเป็นเรื่องใกล้ตัว เจ้าของรถทุกคนจึงต้องรู้ถึงข้อแนะนำในการทำ พ.ร.บ. รถยนต์และการทำประกันภัย ดังนี้

  • พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ เป็นสิ่งที่รถยนต์ทุกคันต้องมี มีอายุ 1 ปี และต้องทำการต่อทุกปี ห้ามขาด
  • ควรทำการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ก่อนหมดอายุ พ.ร.บ. รถยนต์ไม่ให้ความคุ้มครองย้อนหลัง ห้ามขาดแม้แต่วันเดียว
  • พ.ร.บ. รถยนต์สามารถต่อล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือ 90 วัน
  • หากเลือกที่จะไม่ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ก็จะทำให้ต่อภาษีรถยนต์ไม่ได้เช่นกัน และถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย
  • สำหรับการให้ความคุ้มครอง พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ให้ความคุ้มครองแม้ว่าจะเป็นในกรณีที่เป็นฝ่ายถูก หรือฝ่ายผิด และให้ความคุ้มครอง ทั้งตัวคุณ ผู้โดยสาร และบุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหาย
  • แต่ พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันรถยนต์ภาคบังคับให้ความคุ้มครองแค่เพียงส่วนหนึ่ง จึงขอแนะนำให้เลือกทำประกันภัยรถยนต์ ที่เป็นประกันภัยภาคสมัครใจ ที่จะสามารถให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมกว่าทั้งตัวผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คู่กรณี และรวมไปถึงรถยนต์ที่คุณขับขี่ก็จะให้ความคุ้มครองด้วยเช่นกัน

SILKSPAN จึงขอแนะนำให้ทำการสมัครประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจเป็นการเพิ่มเติมความปลอดภัยให้แก่คุณ และรถยนต์ของคุณเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งต่อ

 

สรุปบทความ พ.ร.บ. รถยนต์

      พ.ร.บ. รถยนต์ หรือประกันภัยภาคบังคับ เป็นสิ่งที่รถยนต์ทุกคันต้องมี และไม่ได้ให้ความคุ้มครองย้อนหลัง จึงทำให้ต้องหมั่นตรวจเช็กวันหมดอายุของ พ.ร.บ. รถยนต์ เพราะ พ.ร.บ. รถยนต์ห้ามขาดต่อเลยแม้แต่วันเดียว และการขาดต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ก็จะทำให้ไม่สามารถเสียภาษีรถยนต์ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น อยากให้ทุกคนให้ความสนใจ และไม่ลืมต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ เพื่อมอบความคุ้มครองได้ทันทีในทุกกรณี

 


เขียนโดย : SILKSPAN SPECIALIST
เผยแพร่วันที่ : 25/09/2023
โปรโมชั่นแนะนำ
“เช็คเบี้ยกับเราซิคะ”