ประกันชั้น 1

พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คืออะไร


กองทุนผู้ประสบภัยจากรถช่วยเราในกรณีไหนบ้าง กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ

      เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นและรู้จักคำว่า พ.ร.บ. กันดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะยังไม่รู้ว่าความหมายของ พ.ร.บ. ที่จริงแล้วคืออะไรกันแน่ และ พ.ร.บ. ให้ความคุ้มครองในกรณีใดบ้าง บทความนี้ SILKSPAN จะพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับ พ.ร.บ. ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงและสามารถใช้งานได้อย่างถูกวิธี

 

ทำความรู้จัก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

      พ.ร.บ. รถยนต์ คือประกันภาคบังคับตามที่ได้กำหนดเอาไว้ในพระราชบัญญัติ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยกฎหมายได้กำหนดให้เจ้าของรถที่มีชื่อในเล่มทะเบียนรถยนต์หรือผู้ครอบครองรถในกรณีที่เป็นผู้เช่าซื้อรถจะต้องทำการต่ออายุในทุกปี รวมทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ในการต่อภาษีประจำปี และไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือรถบรรทุก ต่างก็ต้องทำ พ.ร.บ. ด้วยกันทั้งหมดเหมือนกัน

 

พ.ร.บ. คุ้มครองอะไรบ้าง

สำหรับ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นกับรถที่ทำประกัน พ.ร.บ. จะมีความคุ้มครองที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

 

คุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น

      ความคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ จะได้รับความคุ้มครองเป็นค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่บาดเจ็บ ค่าเสียหายในกรณีที่ทุพพลภาพ และค่าปลงศพในกรณีที่เสียชีวิต โดยทั้งหมดนี้ไม่ต้องรอพิสูจน์ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก ทางบริษัทประกันจะชดใช้ให้กับผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องขอค่าชดเชยความเสียหายจากผู้ประสบภัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • กรณีบาดเจ็บ ผู้ประสบภัยจะได้รับค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลที่จ่ายตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร หากเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายทางร่างกายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ บริษัทประกันจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาทต่อคน
  • กรณีเสียชีวิต หากเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยจะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเกี่ยวกับงานศพ จำนวน 35,000 บาทต่อคน

คุ้มครองค่าสินไหมทดแทน

      ส่วนความคุ้มครองค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าเสียหายที่ได้ทำการพิสูจน์แล้วว่าผู้ประสบภัยเป็นฝ่ายถูก โดยที่บริษัทประกันจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามข้อมูลและรายละเอียด ดังนี้

  • กรณีบาดเจ็บ ผู้ประสบภัยได้รับค่ารักษาพยาบาลตามหลักฐานการชำระเงิน ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
  • กรณีเสียชีวิต ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยจะได้รับค่าสินไหมทดแทนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อคน
  • กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร ผู้ประสบภัยจะได้รับค่าทดแทนจำนวนเงินเฉลี่ยที่ 200,000 – 500,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่สูญเสียและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
  • กรณีผู้ป่วยใน หากเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่สถานพยาบาลจะได้รับค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน

 

ประกันรถยนต์ชั้น 1 เบี้ยเริ่มต้นที่ 750 บาท

 

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย คืออะไร

      กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัย พ.ศ. 2535 โดยมีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถ โดยชดเชยค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในกรณีที่ผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย หรือในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายได้ เช่น ถูกชนแล้วหนี คู่กรณีไม่มี พ.ร.บ. หรือไม่ชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น และเมื่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ดำเนินการค่าเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยแล้ว หลังจากนั้นทางกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะทำการไล่เบี้ยเรียกคืนค่าเสียหายเบื้องต้นจากเจ้าของรถหรือผู้กระทำความผิดในลำดับถัดไป

 

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ช่วยคุ้มครองกรณีใดบ้าง

      หากคุณมีความกังวลว่าการไม่ทำประกันอะไรเพิ่มเติมเลยเพราะด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ถ้าหากเกิดเหตุรถชน หรือถูกรถชนขึ้นมา คงจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียหายอื่น ๆ ทั้งหมดเองคงจะแย่ แต่ยังมีอีกหนึ่งหน่วยงานที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ นั่นคือ กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัย พ.ศ. 2535 มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถโดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นหากผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกัน หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ จากกรณีดังต่อไปนี้

  • รถคันที่ก่อเหตุไม่มี พ.ร.บ. หรือไม่มีประกัน และเจ้าของไม่ยอมจ่ายค่าเสียหาย
  • รถคันที่ก่อเหตุเป็นรถที่ถูกขโมยมา และได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้ว
  • ไม่มีผู้แสดงความเป็นเจ้าของรถ
  • กรณีชนแล้วหนี
  • บริษัทประกันไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น หรือจ่ายไม่ครบ
  • ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากรถที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย เช่นรถของหน่วยราชการ

 

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย คุ้มครองเท่าไร

      หลังจากที่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยแล้ว หลังจากนั้นทางหน่วยงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะดำเนินการไล่เบี้ยเรียกคืนจากผู้กระทำความผิดต่อไป โดยสิ่งที่กองทุนจะช่วยได้มีดังนี้

  • ค่ารักษาตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท
  • หากเสียชีวิตจะชดเชยเป็นค่าปลงศพ 35,000 บาท
  • ชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพ 35,000 บาท
  • หากบาดเจ็บ และสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตในเวลาต่อมา จะชดเชยรวมไม่เกิน 65,000 บาท

ดังนั้น หากคุณประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันได้ สามารถยื่นคำร้องต่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ เพื่อเรียกร้องความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด

 

สรุปบทความ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

      สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีความสำคัญต่อผู้ใช้รถเป็นอย่างมาก เนื่องจากคอยให้ความคุ้มครองในเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งยังมีผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุรถยนต์บางคนที่ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายเบื้องต้นได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุกับรถที่ไม่มี พ.ร.บ. ถูกชนแล้วหนี หรือรถที่ไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของรถ จึงทำให้มีการจัดตั้งกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เพื่อจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งหลังจากนั้นกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะดำเนินการติดตามเรียกเงินค่าเสียหายเบื้องต้นคืนจากเจ้าของรถ บริษัทประกันภัย และผู้กระทำผิด

 


เขียนโดย : SILKSPAN ADVISOR
เผยแพร่วันที่ : 05/10/2023
โปรโมชั่นแนะนำ
“เช็คเบี้ยกับเราซิคะ”