อัปเดต! กฎหมายจราจร ปี 2567 มีใหม่อะไรบ้าง ?
กฎหมายจราจร หรือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก เป็นข้อกฎหมายที่มีเอาไว้เพื่อควบคุมการขับขี่ มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดบนท้องถนน ซึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากกระทำผิดมีโทษเริ่มต้นสถานเบาตั้งแต่การตักเตือน ไปจนถึงการปรับ และ การจำคุก บทความนี้เราได้รวบรวมข้อกฎหมายที่มีการปรับเปลี่ยนอัตราโทษ หรือ ปรับรายละเอียดไปจากเดิม ในปี 2567 มาฝาก ถ้าพร้อมแล้วเชิญรับชมเนื้อหาที่น่าสนใจของเราได้เลย
กฎหมายจราจร มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ต้องอัปเดตข้อมูลในทุก ๆ ปี
เกือบทุก ๆ ปี มักจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด ของกฎหมายจราจรไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอัตราโทษ ที่อาจเพิ่มขึ้นหรืออาจจะน้อยลง แต่ส่วนมากเรามักจะพบว่า แนวโน้มของอัตราโทษจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นหน้าที่ของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนคือ ศึกษากฎหมายจราจรใหม่ของปีนั้น ๆ อยู่เสมอ และควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมทาง รวมถึงป้องกันไม่ให้ตนเองต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งอาจจะต้องเสียทั้งเงินค่าปรับ ในกรณีที่เลวร้ายอาจจะต้องจำคุกเลยก็เป็นได้
แนะนำกฎหมายจราจรที่มีการเปลี่ยนแปลงในปี 2567 ไม่อยากโดนปรับต้องอ่าน
อย่างที่เราได้เกริ่นไปข้างต้น ว่าบทความนี้เรามาพร้อมกับ กฎหมายจราจรใหม่ในปี 2567 เป็นกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้นมาใหม่ในปีนี้ หรืออาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนอัตราโทษของกฎหมายเดิม ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่จริงแล้วยังมีการปรับเปลี่ยนอีกหลายอย่าง แต่เราขอหยิบเอากฎหมายที่อยู่คู่กับชีวิตประจำวันมากที่สุดมาฝาก ดังต่อไปนี้
- ขับรถเร็วเกินกำหนด เพิ่มโทษของการขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด จากเดิมที่จะมีโทษปรับอยู่ที่ 1,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 4,000 บาท ตัดคะแนนความประพฤติ 1 คะแนน
- ขับรถผ่านสัญญาณไฟจราจร จากความผิดเดิมที่จะมีการลงโทษปรับ 1,000 บาท เพิ่มเป็น 4,000 บาท พร้อมกับตัดคะแนนความประพฤติขับขี่ทันที 2 คะแนนเมื่อกระทำความผิด
- ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ กรณีที่ใช้โดยไม่มีอุปกรณ์เสริมอย่าง หูฟัง เมื่อตรวจพบจะมีความผิดทันที จากเดิมปรับอยู่ที่ 2,000 บาท เพิ่มเป็น 4,000 บาท พร้อมตัดคะแนนความประพฤติ 1 คะแนน
- ขับรถโดยไม่ได้ทำการคาดเข็มขัดนิรภัย เพิ่มโทษปรับจากเดิม 500 บาท เปลี่ยนเป็นปรับไม่เกิน 2,000 บาท มีผลกับทั้งผู้ขับขี่ และ ผู้โดยสาร พร้อมกับตัดคะแนนความประพฤติผู้ขับขี่ทันที 1 คะแนน
- ไม่สวมหมวกกันน็อก จากเดิมที่มีโทษปรับอยู่ที่ 500 บาท เพิ่มโทษปรับเป็น 2,000 บาท มีผลทั้งกับผู้ขับขี่ และ ผู้โดยสาร ตัดคะแนนความประพฤติ 1 คะแนน
- ไม่หยุดรถที่ทางม้าลายแก่คนข้ามถนน มีโทษปรับจากเดิม 1,000 บาท ปรับเพิ่มเป็น 4,000 บาท และโดนตัดคะแนนความประพฤติทันที 1 คะแนนเมื่อกระทำผิด
- ขับรถย้อนศร จากเดิมที่จะมีโทษปรับอยู่เพียง 500 บาท เพิ่มขึ้นไปเป็นโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท พร้อมการตัดคะแนนความประพฤติทันที 2 คะแนน
- ไม่พกใบอนุญาตขับขี่ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และ อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ปล่อยให้ใบขับขี่หมดอายุ ถูกยึด หรือ ถูกเพิกถอน หากถูกตรวจพบจะมีโทษปรับทันทีไม่เกิน 2,000 บาท ตัดคะแนนความประพฤติทันที 2 คะแนน
- ไม่ติดตั้งที่นั่งคาร์ชีทสำหรับเด็ก สำหรับผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่ถึง 6 ปี จำเป็นจะต้องมีที่นั่งสำหรับเด็กโดยเฉพาะภายในรถส่วนบุคคล หากมีการละเลยจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ขับขี่รถแข่งขันรถยนต์บนถนนสาธารณะ มีโทษปรับเริ่มต้นที่ 5,000 บาท และสูงสุดถึง 10,000 บาท และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรืออาจได้รับโทษทั้งจำทั้งปรับ
คะแนนความประพฤติคืออะไร ? ส่งผลอย่างไรต่อการใช้รถใช้ถนน
จากกฎหมายจราจรในปี 2567 ที่เรานำเสนอไปเมื่อสักครู่ นอกจาก โทษปรับ และ จำคุก จะเห็นว่ามีโทษอีกหนึ่งอย่างคือ “ตัดคะแนนความประพฤติ” หรือบางคนอาจเรียกว่า “ตัดแต้มใบขับขี่” หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าโทษส่วนนี้คืออะไร โดยปัจจุบันเราทุกคนจะมีคะแนนความประพฤติเริ่มต้นที่ 12 คะแนนเต็ม หากมีการทำผิดกฎหมายต่าง ๆ ก็มีโอกาสจะถูกตัดแต้ม ตามที่กฎหมายข้อนั้น ๆ ระบุเอาไว้ ยิ่งเป็นกรณีที่หนักก็อาจจะถูกปรับสูงสุดถึง 4 คะแนน เมื่อถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 ก็มีโอกาสที่จะถูกเพิกถอนใบขับขี่ได้
วัตถุประสงค์ของคะแนนความประพฤติ คือป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายจราจรซ้ำ ๆ ในบุคคลเดิม ๆ เนื่องจากบางคนกระทำผิดจนเคยตัว แน่นอนว่าเมื่อมีการตัดคะแนนความประพฤติ ก็มีการ “เพิ่มคะแนนความประพฤติ” เช่นเดียวกัน ด้วยการเข้ารับการอบรมที่กรมการขนส่งทางบก และจะต้องทำการทดสอบให้ได้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด ถึงจะได้คะแนนความประพฤติกลับมา
กฎหมาย “เมาแล้วขับ” ในปี 2567 มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ? ปัจจุบันมีโทษอย่างไร
จากพระราชบัญญัติจราจรทางบกที่มีการเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนโทษของการ “เมาแล้วขับ” อยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่ใช้ใบขับขี่แบบ 2 ปี มีแอลกอฮอล์ในเลือดได้ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เท่านั้น และการปฏิเสธไม่ยอมเป่าวัดแอลกอฮอล์ ถือว่ามีความผิด มีทั้งโทษปรับ จำคุก ยึดรถ และ เพิกถอนใบขับขี่ ในส่วนของผู้ที่ขับขี่ด้วยความมึนเมา จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ ก็จะมีโทษแตกต่างกันดังนี้
- ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ถูกระงับใบขับขี่ 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ จำคุก 1 ถึง 5 ปี และ ปรับเงิน 20,000 ถึง 100,000 บาท
- ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส ถูกระงับใบขับขี่เริ่มต้นที่ 2 ปี ปรับเงินเริ่มต้น 40,000 ถึง 120,000 บาท และ โทษจำคุก 2 ถึง 6 ปี
- ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เพิกถอนใบขับขี่ตลอดชีวิต ปรับ 200,000 ถึง 400,000 บาท และ โทษจำคุก 6 ถึง 20 ปี
บทส่งท้าย
หลังจากได้รู้กันไปแล้วว่า มีกฎหมายจราจรอะไรที่ปรับเปลี่ยนไปบ้างในปี 2567 ก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะทุกข้อกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการขับขี่ที่ปลอดภัยบนท้องถนน สุดท้ายนี้แม้เราจะเคร่งครัดต่อกฎจราจรมากเพียงใด ก็มีโอกาสที่เหตุไม่คาดฝันจะเกิดจากความสะเพร่าของผู้อื่น นั่นเป็นเหตุผลที่ควรต้องมี “ประกันภัยรถยนต์” ติดรถเอาไว้ ซึ่ง SILKSPAN พร้อมแนะนำประกันภัยรถยนต์ จากบริษัทชั้นนำในประเทศไทยให้กับคุณ เปรียบเทียบเบี้ยประกันได้ ตรวจสอบความคุ้มครองได้ พร้อมสิทธิพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย