บริจาคเลือดห้ามเป็นโรคอะไร
เรามักจะเห็นข่าวสภากาชาดออกมารณรงค์ให้มาบริจาคเลือดเป็นระยะๆ คนส่วนใหญ่มักจะพอทราบเรื่องการเตรียมตัวก่อนไปบริจาคเลือดกันบ้าง แต่ยังมีรายละเอียดของโรคบางโรคที่เมื่อเป็นอยู่จะทำให้ไม่สามารถบริจาคเลือดได้
โรคที่ห้ามบริจาคเลือด
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่พบบ่อยในผู้ที่บริจาคโลหิต และโรคอื่นๆ ซึ่งมีข้อควรระวังดังนี้
1. โรคเบาหวาน
ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถบริจาคโลหิตได้เช่นกัน แต่ต้องไม่ฉีดอินซูลิน และไม่มีโรคแทรกซ้อน
2. โรคความดันโลหิตสูง
ผู้ที่เป็นโรคนี้ ก็สามารถบริจาคโลหิตได้เช่นกัน หากสามารถควบคุมความดันให้ไม่เกิน 160/100 และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
3. โรคไขมันในเลือดสูง
ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนเช่นเส้นเลือดในสมอง หรือเส้นเลือดหัวใจแตก หรืออุดตัน ก็สามารถบริจาคโลหิตได้
4. โรคไทรอยด์
ผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์ แต่ถ้าระดับฮอร์โมนกลับมาปกติ โดยไม่ต้องรับยาแล้วอย่างน้อย 8 สัปดาห์ หรือแพทย์อนุญาตให้หยุดรักษาแล้ว 2 ปี ก็สามารถบริจาคเลือดได้ แต่ถ้าเป็นไทรอยด์ที่เกิดจากมะเร็ง หรือโรคภูมิคุ้มกัน จะไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ถาวร
5. โรคลมชัก
หากหยุดยามาแล้ว 3 ปี และมีใบรับรองแพทย์ ผู้ที่เป็นโรคลมชักก็สามารถบริจาคได้
6. โรคมะเร็งทุกชนิด
ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งทุกชนิด แม้ว่าจะรักษาหายแล้ว ก็จะไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ถาวร
7. โรควัณโรค
ผู้ที่เป็นโรคนี้ จะสามารถบริจาคโลหิตได้ก็ต่อเมื่อรักษาจนหายแล้ว แล้วหยุดยาเม็ดสุดท้ายมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี
8. โรคหอบหืด
แม้ว่าจะควบคุมอาการโดยใช้ยากินแบบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ หรือใช้ยาพ่น ก็สามารถบริจาคได้ แต่วันที่มาบริจาคจะต้องไม่มีอาการ
9. โรคตับอักเสบ
หากเป็นตับอับเสบชนิดเอ เมื่อรักษาหายแล้วก็สามารถบริจาคได้ แต่ถ้าเป็นตับอักเสบชนิดบี หรือซี จะต้องงดบริจาคโลหิตถาวร
10. โรคไข้หวัด ไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา
สามารถบริจาคได้หลังรักษาหายแล้ว 1 เดือน
11. โรคไข้ซิกา
สามารถบริจาคได้หลังจากรักษาหายแล้ว 4 เดือน
12. โรคมาลาเรีย
สามารถบริจาคได้หลังจากรักษาหายแล้ว 3 ปี
13. โรคโควิด
ให้งดบริจาคโลหิต 4 สัปดาห์
นอกจากนี้ถ้าหากคุณป่วย และมีการใช้ยาปฏิชีวนะอยู่ ไม่ควรมาบริจาคโลหิต และจะสามารถมาบริจาคได้เมื่อหยุดยาแล้ว 7 วัน ส่วนผู้ที่ใช้ยาแอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดข้อ ก็ควรหยุดยาอย่างน้อย 2 วันก่อนมาบริจาค