แพ้อาหาร ตอนโต เกิดจากอะไร จะมีโอกาสเป็นได้หรือไม่
หลายๆ คนอาจเข้าใจว่าอาการแพ้อาหารถ้าไม่ได้เป็นตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ต้องห่วงอะไร กินได้ทุกอย่าง แต่คุณกำลังเข้าใจผิด ข้อมูลจากสถาบันโรคภูมิแพ้โรงพยาบาลสมิติเวชเผยว่าในปัจจุบันคนไทยเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้สูงขึ้นถึง 300-400% ในอดีตมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละ 1 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 2 คนต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งอาหารที่แพ้ไม่ได้มีแค่อาหารทะเลอย่างเดียว บางคนอาจแพ้ปลา นม ไข่ ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลิสง ข้าวสาลี ถั่วเหลือง หรือแม้แต่ผลไม้บางชนิด
สาเหตุที่ทำให้เพิ่งจะมีอาการแพ้อาหารตอนโตมีดังนี้
- การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเลือกทานอาหารที่มีความสะอาดปลอดภัย ทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคน้อยลง ทำให้ภูมิคุ้มกันที่เคยต่อสู้กับเชื้อโรค หันไปสู้กับสารอาหารแทน จนเกิดเป็นอาการแพ้ขึ้นมา
- การสะสมของสารก่อภูมิแพ้ในร่างกายมาตั้งแต่เด็ก แล้วค่อยแสดงอาการแพ้ตอนโต
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้แบคทีเรียไมโครไบโอม ซึ่งอาศัยอยู่ในร่างกายของเรา เกิดความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ และทนทานต่ออาการแพ้
- การรับประทานอาหารที่ไม่ค่อยมีกากใย
วิธีการตรวจเช็กว่าร่างกายแพ้อะไรบ้าง
เมื่อมีอาการแพ้แล้ว สิ่งที่ทำได้คือทำการตรวจเช็กให้แน่ใจว่าร่างกายแพ้อะไรบ้าง วิธีการเช็กมี 2 แบบคือ การใช้สารสกัดจากอาหารมาสัมผัสกับร่างกาย และการเจาะเลือด
จากนั้นสังเกตว่าร่างกายแสดงอาการแพ้ทางไหน อย่างไร โดยอาการแพ้สามารถส่งผลต่อ 5 ระบบของร่างกายด้วยกัน นั่นคือ ระบบผิวหนัง (อาการผื่นคัน) ระบบทางเดินหายใจ (อาการแสบจมูก หายใจไม่สะดวก) ระบบทางเดินอาหาร (คันคอ ปวดท้อง อาเจียน) และระบบประสาท (ความดันโลหิตต่ำ ช็อก) หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ พกยาประจำตัว และเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยค่อยๆ รับประทานอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้ทีละน้อยเพื่อสร้างภูมิให้กับร่างกาย แต่ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์เท่านั้น
แต่ถ้าหากไม่อยากมีอาการแพ้อาหาร เราควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง และพักผ่อนให้ร่างกายได้ฟื้นฟูตัวเอง