9 อาการป่วยที่ไม่ควรขับรถ
แม้ว่าโรคและปัญหาสุขภาพบางประการไม่ได้เป็นข้อห้ามของการทำใบขับขี่ แต่ต้องยอมรับว่า บางโรคหากเกิดอาการกำเริบขึ้น ก็มีผลกระทบต่อสมรรถภาพการขับขี่ และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ได้เผยข้อมูลให้ทราบกันว่าโรคและปัญหาสุขภาพต่อไปนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการขับขี่ได้ นั่นคือ
1. โรคที่เกี่ยวกับสายตา
เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม โดยผู้ที่จอประสาทตาเสื่อมจะมองเห็นเส้นทางในช่วงเวลากลางคืนไม่ชัดเจน ส่วนผู้ที่เป็นต้อหิน ต้อกระจก จะมีมุมในการมองเห็นแคบและมองเห็นแสงไฟพร่ามัวจึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงเวลากลางคืน หรือเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี
2. โรคทางสมองที่ยังเป็นไม่มาก
แต่ก็ทำให้มีอาการหลงลืม จดจำเส้นทางไม่ได้ ทำให้ตัดสินใจช้า สมาธิไม่ดีนัก และอาจเกิดปัญหาขับรถหลงทางในบางครั้ง เช่น โรคสมองเสื่อมที่มักพบในผู้สูงอายุ
3. โรคหลอดเลือดสมองอัมพฤกษ์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
จะทำให้แขนไม่มีแรงในการบังคับพวงมาลัยหรือเปลี่ยนเกียร์ และอาจเกิดปัญหาขากระตุก ไม่มีแรงขณะเหยียบคันเร่ง เหยียบเบรก ส่งผลต่อการขับขี่ และทำให้ความไวต่อการตอบสนองเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์และรักษาอาการของโรคให้หายเป็นปกติก่อนกลับมาขับรถ
4. โรคพาร์กินสัน
จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการมือสั่น เท้าสั่น เกร็ง ทำอะไรได้ช้า ขับรถได้ไม่ดี กรณีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดภาพหลอน หากขับรถจะก่อให้เกิดอันตรายได้
5. โรคลมชัก
หากอาการกำเริบขึ้นจะมีอาการชัก เกร็งกระตุก ไม่รู้สึกตัว หมดสติ เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทางรอบข้าง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการขับรถด้วยตนเอง
หากจำเป็นต้องขับรถ ต้องไม่มีอาการชักอย่างน้อย 6 เดือน ควรมีเพื่อนร่วมทางไปด้วย และเมื่อมีอาการเตือนของโรคลมชัก ให้จอดรถริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจากการชักขณะขับรถ ควรเว้นระยะในการขับรถและต้องไม่มีอาการชักอย่างน้อย 1-2 ปี จึงสามารถกลับมาขับรถได้อีกครั้ง
6. โรคข้อเสื่อมข้ออักเสบ
หากมีอาการปวดบริเวณต่างๆ เช่น ข้อเข่า ก็ทำให้เหยียบเบรก คลัตช์ หรือคันเร่งได้ไม่เต็มที่ ขยับร่างกายลำบาก หรือถ้ากระดูกคอเสื่อม ก็ทำให้หันคอ หันหน้าดูการจราจรได้ลำบาก รวมถึงไม่สามารถนั่งขับรถเป็นเวลานานได้ เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถระยะทางไกลเป็นเวลานาน ไม่ขับรถผ่านเส้นทางที่มีสภาพการจราจรติดขัด
7. โรคหัวใจ
หากมีอาการเครียดมากๆ เกิดขึ้นจากสภาพการจราจรที่ติดขัด อาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกได้ เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถตามลำพัง และนำยาติดตัวไว้เสมอ รวมถึงควรจอดรถพักเป็นระยะ เพื่อป้องกันภาวะเครียดสะสม ทำให้โรคหัวใจกำเริบ
นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการทำใบขับขี่ในปัจจุบันนี้ จะต้องใช้ใบรับรองแพทย์แบบมาตรฐานใหม่ ซึ่งใบรับรองแพทย์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 เป็นการกรอกข้อมูลทั่วไป โรคประจำตัว ประวัติการรักษา ประวัติอุบัติเหตุและการผ่าตัด ซึ่งต้องกรอกให้ครบตามความเป็นจริง
ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่แพทย์ต้องกรอกเพื่อยืนยันว่า ผู้เข้ารับการตรวจไม่มีความพิการ หรือทุพพลภาพทางร่างกาย ไม่มีอาการจิตฟั่นเฟือน ไม่มีอาการพิษสุราเรื้อรัง ไม่มีการติดยาเสพติดให้โทษ และไม่มีอาการของโรคเรื้อน วัณโรค และโรคเท้าช้าง จากนั้นจึงให้แพทย์ผู้ตรวจเซ็นกำกับ
8. โรคเบาหวาน
หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จะมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ สายตาพร่ามัว เหงื่อออกมาก ใจสั่น และหมดสติ หากอาการไม่รุนแรงยังสามารถขับรถได้ แต่หากอาการรุนแรง ห้ามขับรถโดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องขับรถควรเตรียมอาหาร ลูกอม น้ำหวานไว้รับประทาน เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้หมดสติ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
9. โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงกะทันหัน โดยเฉพาะเมื่อต้องพบเจอกับความเครียดบนท้องถนน หากความดันขึ้นสูงมากๆ ก็อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลม หรือที่ร้ายกว่านั้นคือเกิดเส้นเลือดในสมองแตกได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโรคใดๆ ก็ตามที่ทานยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ง่วงซึมก็ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเช่นกัน เพราะเมื่อไปขับรถจะเกิดอาการมึนงง หลับใน ตัดสินใจช้า ตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้ช้า ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้นอนพักผ่อนหลังทานยาประเภทนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก : kapook.com, honestdocs.co