ค่าสินไหมทดแทน คืออะไร มีแบบไหนบ้าง ชดเชยอย่างไรบ้าง?
ค่าสินไหมทดแทนคืออะไร? มาทำความรู้จักกับค่าสินไหมทดแทน
ค่าสินไหมทดแทนมีความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานว่า “ค่าสินไหมทดแทน หมายถึง (กฎ) น. เงินที่ต้องชดใช้เพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือแก่บุคคลอันเนื่องมาจากการละเมิด หรือการผิดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินที่ต้องคืนให้แก่ผู้เสียหายด้วย เช่น ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้”
และตามหลักของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ระบุไว้ว่า “ค่าสินไหมทดแทน คือ การชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดโดยการคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายได้เสียหายไปหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น ในเมื่อไม่อาจคืนทรัพย์สินได้รวมทั้งค่าเสียหายอย่างใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมหรือใกล้เคียงกับฐานะเดิมเท่าที่จะสามารถทำได้”
สินไหมทดแทนกรณีละเมิดตามหลักทั่วไป
ค่าสินไหมทดแทน กรณีละเมิดตามหลักทั่วไป เป็นค่าเสียหายที่เกิดกับผู้เสียหายจริง ซึ่งผู้กระทําละเมิดจะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายเป็นการเยียวยาความเสียหายนั้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เสียหายกลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนมีการละเมิดให้ได้มากที่สุด ค่าเสียหายประเภทนี้มีทั้งค่าเสียหายที่คำนวณเป็นเงินได้ เช่น ค่าเสียหายที่เกิดต่อทรัพย์ และค่าเสียหายที่คำนวณเป็นเงินไม่ได้ เช่น ค่าทำขวัญ เป็นต้น
สินไหมทดแทนประกันวินาศภัย
ค่าสินไหมทดแทน ประกันวินาศภัย ต้องเป็นการทดแทนความเสียหายที่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ มีข้อตกลงในการชดเชยเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน หรือสิ่งของทดแทน จ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง โดยสามารถเลือกชดใช้ได้ทั้งหมด 4 วิธีคือ
1.จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน เป็นการเลือกจ่ายด้วยเงิน จ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
2.จ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นการซ่อมแซม จัดการซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นๆ ให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม เหมาะสำหรับในกรณีที่เกิดความเสียหายเพียงบางส่วน และมีการประเมินแล้วว่าสามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม
3.จ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ชดเชยให้สิ่งที่เสียหายกลับคืนมาสู่สภาพเดิมก่อนเกิดเหตุวินาศภัย และไม่สามารถใช้วิธีการซ่อมแซมได้ หรือเรียกได้ว่าได้รับความเสียหายมาก เช่น โรงงานที่ถูกไฟไหม้ ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ต้องสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่
4.จ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นการหาสิ่งของมาทดแทน เป็นการหาของมาทดแทนสิ่งของที่เสียหาย โดยมีลักษณะที่เหมือนกันทั้งประเภท ชนิด และคุณภาพเดียวกับสิ่งของนั้นๆ
สินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์
ในกรณีที่คุณมีประกันภัยรถยนต์ และถ้าหากเกิดอุบัติเหตุ คู่กรณีสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรณีต่างๆ ได้ เช่น
ค่าซ่อมรถ
หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้ขับขี่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทประกันภัยได้ การแจ้งข้อมูลการเคลมต่อเจ้าหน้าที่ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากหลักฐานสามารถนำส่งเพื่อให้บริษัทประกันไปเรียกร้องค่าเสียหายกับคู่กรณี หรือผู้ละเมิดได้
ค่ารักษาพยาบาล/เกิดการเสียชีวิต
หากเกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกายของบุคคลภายนอก บริษัทประกันจะทำการรับผิดชอบตามความเสียหายที่เกิดขึ้น หากมีความรุนแรงถึงแก้ความตาย จะชดเชยค่าสินไหมทดแทนไม่น้อยกว่า 100,000 บาท แต่ถ้าหากการเสียชีวิตดังกล่าวทำให้มีผู้ที่ขาดไร้การอุปการะตามกฎหมาย บริษัทจะชดเชยค่าสินไหมทดแทน ไม่น้อยกว่า 300,000 บาท และในกรณีที่เกิดการทุพพลภาพถาวร บริษัทประกันจะทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่น้อยกว่า 300,000 บาท และถ้าบุคคลภายนอกนั้นมีสิทธิได้รับการชดใช้จากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มากกว่า 1 กรมธรรม์ บริษัทประกันจะร่วมกันเฉลี่ยจ่ายเท่าๆ กัน
ตอนการเรียกค่าสินไหมทดแทนโดยทั่วไป
1.ติดต่อหาตัวแทน หรือบริษัทประกันเพื่อทำการทำเรื่องเรียกค่าสินไหมทดแทน
2.ส่งเอกสาร และหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังบริษัทประกัน
3.รอบริษัทประกันพิจารณาค่าสินไหมทดแทน 7-15 วันทำการ
4.บริษัทจะทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้คุณภายใน 15 วันหลังจากได้รับเอกสารถูกต้อง และครบถ้วน
ระยะเวลาการจ่ายค่าสินไหมทดแทน
ดยปกติจะใช้เวลาในการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนนับจากวันที่ได้รับเอกสารที่ถูกต้อง และครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อย ภายในเวลา 7-15 วันทำการ
- การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ภายใน 7 วัน
- การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ภายใน 15 วัน
การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนใช้เอกสารอะไรบ้าง
สินไหมทดแทน กรณีค่าซ่อมรถ
- ใบแจ้งความเสียหาย/ใบเคลมตัวจริง
- ใบเสนอราคาที่ประเมินราคาค่าซ่อม
- สำเนาใบขับขี่
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (สำหรับการโอนเงิน)
- ภาพถ่ายความเสียหายก่อน-หลังซ่อม (ถ้ามี)
- ชุดมอบอำนาจ (ถ้ามี)
– สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ
– สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
8. สำเนาทะเบียนรถ (สำหรับคู่กรณี) ที่ปรากฏชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือครอบครองรถในลำดับสุดท้าย
ค่าสินไหมทดแทน กรณีค่ารักษาพยาบาล
- ใบแจ้งความเสียหาย
- ใบรับรองแพทย์
- ใบเสร็จค่ารักษา
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (สำหรับการโอนเงิน)
- สำเนาบันทึกประจำวัน
- หน้าตารางกรมธรรม์
- ชุดมอบอำนาจ (ถ้ามี)
– สำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ
– สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
9. สำเนาทะเบียนรถ
10. สำเนารับรองรายได้ (ในกรณีที่ชดเชยค่าอนามัย)
ค่าสินไหมทดแทน กรณีค่าปลงศพ
- สำเนาใบมรณบัตร
- สำเนาหนังสือรับรองการเสียชีวิต
- สำเนาทะเบียน และบัตรประชาชนของผู้เสียชีวิต
- หลักฐานของญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ ลูก ภรรยา สามี
– สำเนาบัตรประชาชน
– สำเนาทะเบียนบ้าน
– สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีที่ผู้ยื่นขอเป็นสามี หรือภรรยาของผู้เสียชีวิต)
สรุป
ค่าสินไหมทดแทน สามารถช่วยเป็นค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ แต่ถ้าหากเลือกได้การไม่มีอุบัติเหตุก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่การมีประกันรถยนต์ก็สามารถช่วยทำให้ทุกการขับขี่อุ่นใจมากขึ้นนั่นเอง