อาการแพ้อากาศ เป็นอย่างไร
โรคแพ้อากาศ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องก็คือ “โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้” (Allergic Rhinitis) ที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูกเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ แม้โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่เกิดร่วมกับหอบหืดและอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) แต่ก็อาจทำให้ผู้ที่เป็นมีคุณภาพชีวิตแย่ลงได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแพ้อากาศ?
โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันพบว่าโดยเฉลี่ยผู้ใหญ่ร้อยละ 20 และเด็กร้อยละประมาณ 40 เป็นโรคนี้ ซึ่งเป็นเกิดจากความผิดปกติของระบบสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายจากกรรมพันธุ์ โดยมีสาเหตุมาจากภายนอก และภายในของร่างกาย ดังนี้
– สาเหตุภายนอก สารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวที่ได้เข้าไปในร่างกายทางการหายใจ ทางการกินและทางการสัมผัส เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสรของหญ้าหรือดอกไม้ เชื้อราในอากาศ ควันไฟ ควันบุหรี่ รวมทั้งมลพิษในอากาศซึ่งพบมากในเมืองใหญ่ที่การจราจรหนาแน่น เช่น เมืองไทย หรือการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น อากาศร้อนจัด เย็นจัด ฝนตก ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้้น
– สาเหตุภายใน ร่างกายอ่อนเพลียจากอดนอน ทำงานหนัก หรือขาดการออกกำลังกาย หรือมีเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้อารมณ์ตึงเครียด วิตกกังวล ไม่สบายใจ ไม่สมหวังต่างๆ นอกจากนี้ ร่างกายอาจกำลังติดเชื้อ เช่น โรคไซนัสอักเสบ ฟันผุหรือไข้หวัด
สังเกตอาการได้อย่างไร?
- คัดแน่นจมูก มักเป็นสลับข้างกัน
- มีน้ำมูกใส ๆ มีเสมหะ ไม่รับรู้กลิ่น
- จามหลาย ๆ ครั้ง ไอ หรือเจ็บคอ
- คันจมูก ปาก หู ตา ผิวหนัง หรือบริเวณอื่น ๆ
- อาการอื่น ๆ เช่น ปวดหัว ปวดหู หูอื้อ ปวดมึนศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับหรืออาจง่วงซึม รู้สึกไม่สบายตัว หงุดหงิดง่าย ผิวหนังแห้ง เป็นผื่น เป็นลมพิษ การเรียนไม่ดี
การดูแลตนเองและหลีกเลี่ยงอาการแพ้
1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งเป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด ตั้งแต่การกินอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่นแจ่มใส
2. ลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น สิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถควบคุมได้ ทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะห้องนอน ห้องทำงาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ นำที่นอน หมอน ผ้าห่ม มาตากแดดจัด ๆ และซักทำความสะอาดอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ควรดูดฝุ่นรถอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งด้วย
3. จัดบ้านให้โล่งโปร่งและมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่สุด ไม่ควรใช้พรมปูพื้นห้องและพยายามอย่าให้เกิดความชื้น เพราะจะเป็นสาเหตุของเชื้อรา
4. ไม่ควรอยู่ใกล้ หรือมีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก หนู กระต่าย
5. ใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น ยากินหรือ ยาพ่นในจมูกในเวลาที่มีความจำเป็น หรือเวลาที่ไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ 100%
6. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดีอาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี
7. ผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรง โดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ เนื้องอกในโพรงจมูก ไซนัสอักเสบ