ท้าพิสูจน์! คุณกำลังจ่ายเบี้ยประกันแพงกว่า 30%

ลูกหมาก - ปีกนก เช็กให้ดี ระวัง... ศูนย์ซ่อมฟันหัวแบะ!


      หลายๆ คนคงเคยประสบพบเจอกับปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์มาบ้างไม่มากก็น้อย และถ้าเป็นไปได้ก็คงไม่อยากเจอกับปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะกับช่วงล่างของรถยนต์ ที่ค่อนข้างตรวจเช็กยาก เพราะต้องมีอุปกรณ์ให้ครบ ถึงจะยกจะถอดออกมาดูได้

      เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักกับชื่อนี้เป็นอย่างดี “ปีกนกกับลูกหมาก” แต่จะมีใครรู้จริงบ้างมั้ย ว่ามันมีหน้าที่อะไร มีความสำคัญขนาดไหน หากเกิดปัญหาขึ้น จะแก้ไขยังไงดี วันนี้เรามาทำความรู้จักมันกันให้มากขึ้นอีกสักนิด เผื่อวันหน้าเกิดอะไรขึ้นจะได้มีความรู้ติดตัว และสามารถวิเคราะห์อาการได้บ้าง

      ปีกนก (Control arm คอนโทรลอาร์ม หรือ wishbone วิชโบน) เป็นระบบรองรับการสะเทือนสำหรับรถยนต์ ปกติจะติดตั้งใกล้กับแกนล้อ โดยใช้ ลูกหมากปีกนก หรือ บอลล์ จอยต์ (ball joint) เป็นตัวเชื่อมต่อ และทำให้ปีกนกสามารถรับการเคลื่อนไหวของรถได้ มักทำด้วยเหล็ก หรืออะลูมิเนียม ปีกนกสามารถเคลื่อนไหวแบบยืดหยุ่นในลักษณะการปรับองศาการเคลื่อนไหวเพื่อรองรับความสั่นสะเทือนของตัวรถ แถมยังมีหลายรุ่นหลายแบบ ทั้งที่เหมาะกับรถเก๋ง รถกระบะ รถบรรทุก ฯลฯ

 

 อาการที่บ่งบอกว่าช่วงล่างเริ่มมีปัญหา

-พวงมาลัยดึงเวลาถนนขรุขระ พวงมาลัยหลวมมีเสียงดัง กุกๆ กักๆ ที่พวงมาลัยเวลาวิ่งทางขรุขระ ให้ตรวจเช็ก ลูกหมากคันชัก(ไม้ตีกลอง)

-วิ่งทางขรุขระแล้วดัง กุกๆ กักๆ ให้ตรวจเช็ก ลูกหมากปีกนก

-วิ่งทางตรง แต่ล้อไม่ตรง ควบคุมรถไม่นิ่ง ให้ตรวจเช็ก ลูกหมากปลายแร๊ค

-วิ่งทางขรุขระ แล้วสะท้านขึ้นพวงมาลัย (ในกรณีที่ลูกหมากแร๊คแน่นอยู่แล้ว) ให้ตรวจเช็ก ยางรัดแร๊ค

-เดินหน้า หรือถอยหลัง จังหวะที่รถออกตัว หรือกำลังจะหยุด มีเสียงกึกเบาๆ วิ่งทางตรงแล้วพวงมาลัยเอียง ให้ตรวจเช็ก บูชปีกนก

      หรือถ้ามีเวลา มีอุปกรณ์ ลองยกรถของท่านให้ลอยขึ้นมาจากพื้น (ใช้แม่แรงที่เป็นอุปกรณ์พื้นฐาน ที่ติดมาตอนซื้อรถ หรือขึ้นฮ้อยยกรถก็ได้) จากนั้นจับล้อที่ลอยจากพื้นตรงหน้าเราให้มั่น โดยให้มืออยู่ตามตำแหน่งที่ 12 และ 6 นาฬิกา โดยใช้มือหนึ่งดัน อีกมือหนึ่งดึง ซึ่งการทำแบบนี้สามารถเพิ่มแรงในการโยกล้อได้มากขึ้น ถ้าไม่มีอาการอะไร ไม่มีการเคลื่อนที่ หรือล้อไม่สามารถขยับได้ ก็วางใจได้ว่าลูกหมากปีกนกบน และล่างยังใช้งานได้ดีอยู่ แต่ถ้ามีการเคลื่อนตัว หรือขยับได้ แปลว่าอุปกรณ์อาจเริ่มเสื่อมสภาพแล้ว และอีกวิธีหนึ่งใช้ในการเช็กลูกหมากปลายแร็ค เพียงแค่เปลี่ยนจุดที่จับจาก 12 และ 6 นาฬิกา เป็น 9 และ 3 นาฬิกา ซึ่งอาการที่ออกมาก็จะคล้ายกัน ถ้าไม่เคลื่อนที่ ขยับไม่ได้ ก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ แต่ถ้าขยับเขยื้อนได้ ก็อาจเกิดการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์แล้ว

 

      สำหรับการบำรุงรักษา หรือซ่อมแซมที่ทำกันโดยมากคือ เปลี่ยนยางกันฝุ่น เปลี่ยนลูกหมาก ซึ่งบางรุ่นอาจจะต้องเปลี่ยนพร้อมปีกนก เพราะชิ้นส่วนยึดติดด้วยกัน และทำการอัดจาระบี (สำหรับลูกหมากที่มีหัวอัดจาระบี) ดังนั้นก่อนจะนำรถไปซ่อม ลองตรวจเช็กสิ่งเหล่านี้ดู จะได้ไม่โดนอู่ หรือศูนย์ซ่อมฟันหัวแบะ

 


เขียนโดย : SILKSPAN ADVISOR
เผยแพร่วันที่ : 10/08/2017
บริการแจ้งเตือนผ่านช่องทางต่างๆ

กำลังโหลด