
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นภาษี 2560

ยื่นภาษี 2560 อย่างไร พร้อมวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่หลายคนมีคำถาม
ทุก ๆ ปี คนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดจะต้องยื่นแสดงรายได้และจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกรมสรรพากร โดยในปีภาษี 2560 (ที่จะยื่นแบบในช่วงต้นปี 2561) มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษี และค่าลดหย่อนใหม่หลายประเภท คือ
1. ปรับอัตราภาษีในช่วงอัตราร้อยละ 30 และอัตราร้อยละ 35
2. เพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
3. เพิ่มค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้เป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท รวมทั้งค่าลดหย่อนบุตร ลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อคน และไม่จำกัดคน
4. กรณีที่สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท
5. กองมรดก ให้หักลดหย่อนเพิ่มเป็น 60,000 บาท
จากโครงสร้างภาษีใหม่จะทำให้เราเสียภาษีน้อยลง และคนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 26,000 บาทก็จะไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่จะคำนวณภาษีอย่างไรนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมนำข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นภาษี พร้อมวิธีคำนวณภาษีมาแจกแจงให้ทราบกัน ลองไปอ่านกันเลย
ใครมีหน้าที่ยื่นภาษี 2560
หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ถ้ามีเงินได้มากกว่าเดือนละ 26,000 บาท หรือมีเงินได้ต่อปีสูงกว่า 300,000 บาท จึงจะมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี ซึ่งความเข้าใจนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องค่ะ เพราะกรมสรรพากรได้กำหนดให้คนที่มีเงินได้แม้มีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายได้ ในกรณีต่อไปนี้
คนโสด
– กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
– กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
– คนมีคู่
– กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท
– กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

ยื่นภาษีแบบไหน
แบบยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ดูง่าย ๆ ว่าใครจะยื่นแบบไหนคือ คนมีเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพ ก็ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ส่วนคนที่มีรายได้อื่น ๆ หรือมีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90
ยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต
สำหรับคนที่ต้องการยื่นภาษี สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้เลย >> ยื่นภาษีผ่านเน็ต
ยื่นภาษี 2560 ได้ถึงวันที่เท่าไร
สามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2560 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป จนถึงประมาณต้นเดือนเมษายน (กรณียื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต)
ตรวจสอบค่าลดหย่อนภาษี
ก่อนที่จะไปคำนวณภาษีกัน ผู้เสียภาษีควรทราบข้อมูลของค่าลดหย่อนต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณภาษีด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้
* กรณีเป็นผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน ได้รับยกเว้นเงินได้ จำนวนเงิน 190,000 บาท
* กรณีเป็นผู้สูงอายุ มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี ได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
เช็กลิสต์เอกสารประกอบการยื่น
ก่อนยื่นภาษี อย่าลืมตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้ครบก่อนนะคะ เพราะจะทำให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่สรรพากรต้องการตรวจสอบเอกสาร จะได้จัดส่งได้โดยเร็วค่ะ โดยอาจมีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ตามนี้
1. หนังสือรับเงินเดือน (50 ทวิ) ซึ่งได้รับจากนายจ้าง โดยหนังสือรับรองจะระบุผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวนเงินได้ทั้งปี (รวมเงินเดือน โบนัสและเงินพิเศษต่าง ๆ) ภาษีที่หักและนำส่งไว้ รวมถึงเงินที่จ่ายเข้า กบข./กสจ./กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
2. ทะเบียนสมรส กรณีกรมสรรพากรเรียกตรวจ หากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน
3. เอกสารรับรองบุตร หรือสูติบัตรของบุตร กรณีสรรพากรเรียกตรวจ โดยสามารถหักลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาทไม่จำกัดจำนวน แต่หากเป็นบุตรบุญธรรมจะหักลดหย่อนได้รวมกันไม่เกิน 3 คน
4. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบิดา-มารดาของตัวเองได้คนละ 30,000 บาท รวมทั้งบิดา-มารดาของคู่สมรส อีกคนละ 30,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีเงินได้เป็นผู้เลี้ยงดูบิดา-มารดา ทั้งนี้บิดา-มารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
5. เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
6. เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพ (รอประกาศอีกครั้ง)
7. หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันแบบบำนาญกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
8. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
– คนพิการ จะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ และระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ โดยคนพิการต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 60,000 บาท
– คนทุพพลภาพ จะต้องเป็นผู้ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ
ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ
ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ
9. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
10. เอกสารการซื้อบ้านหลังแรกที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 13 ตุลาคม 2558–31 ธันวาคม 2559 ประกอบด้วย
– หนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (สามารถดูแบบฟอร์มของกรมสรรพากร)
– หนังสือรับรองการซื้ออสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรก (สามารถดูแบบฟอร์มของกรมสรรพากร)
– สำเนาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
– สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน (กรณีขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน)
โดยผู้ซื้อบ้านหลังแรกสามารถนำ 20% ของราคาบ้านมาเฉลี่ยลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี หรือเท่ากับลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4% ของราคาบ้านเป็นเวลา 5 ปี โดยบ้านที่โอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 13 ตุลาคม 2558–31 ธันวาคม 2558 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2558-2562 ส่วนบ้านที่โอนกรรมสิทธิ์ในปี 2559 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2559-2563 >> [อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ซื้อบ้านหลังแรกช่วยลดหย่อนภาษีได้ด้วย อ่านเงื่อนไขก่อนเลย]
11. เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถใช้สิทธิได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
12. เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถใช้สิทธิได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท
13. หลักฐานการเป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ
14. ค่าลดหย่อนกรณีซ่อมแซมบ้านและรถที่เสียหายจากน้ำท่วม
กรณีน้ำท่วมภาคใต้ช่วงต้นปี 2560
– กรณีซ่อมบ้าน สามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องมีการจ่ายค่าซ่อมภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560
– กรณีซ่อมรถ สามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยต้องมีการจ่ายค่าซ่อมภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560
กรณีน้ำท่วมอีสาน ช่วงกลางปี 2560
– กรณีซ่อมบ้าน สามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยเป็นการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมในช่วงระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2560
– กรณีซ่อมรถ สามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยเป็นการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมในช่วงระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2560
15. ใบเสร็จรับเงินบริจาค สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ แต่หากเป็นเงินสนับสนุนการศึกษา การช่วยเหลือสังคม และเงินบริจาคให้กองทุนยุติธรรม สามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินบริจาค
16. ใบเสร็จรับเงินบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ (บริจาควันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2560) และน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (บริจาควันที่ 5 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2560) สามารถหักลดหย่อนได้1.5 เท่า สูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ
17. เอกสารเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น แนะนำให้สมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วดาวน์โหลดเอกสารไปใช้ยื่นสรรพากรโดยที่เราไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก
18. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กองทุนรวมต่าง ๆ กรณีที่เราลงทุนในกองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผล เงินปันผลที่ได้รับนั้นจะถูกหักภาษี 10% แต่ผู้ลงทุนก็สามารถเลือกได้ว่าจะให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไปเลยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เราเลือกให้เงินปันผลนั้นยังไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เราจะต้องนำเงินปันผลที่ได้มารวมกับเงินได้ประจำปี เพื่อยื่นคำนวณภาษีด้วยค่ะ ดังนั้นต้องเก็บเอกสารจากกองทุนรวมที่จะส่งมาให้ไว้ให้ดี เพื่อยื่นแสดงหลักฐานต่อกรมสรรพากร
19. หนังสือหรือเอกสารรับรองเงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน
ทั้งนี้ หากใครยื่นภาษีเป็นประจำทุกปี แล้วเคยยื่นเอกสาร อาทิ ทะเบียนสมรส สูติบัตรของบุตร หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ฯลฯ ไปแล้ว ในปีต่อ ๆ ไป ทางสรรพากรอาจไม่เรียกตรวจเอกสารอีก แต่เตรียมพร้อมไว้ก่อนก็ดีนะคะ จะได้ไม่ล่าช้าหากถูกเรียกตรวจ
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 – ภ.ง.ด.91)
สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า แบบภาษี ภ.ง.ด.90 กับ ภ.ง.ด.91 แตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะไปคิดคำนวณภาษีกันลองมาทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ กันก่อน เมื่อรูัแล้วก็ลองไปดูวิธีคิดภาษีกันได้เลย
– ภ.ง.ด.90 คือ ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ
– ภ.ง.ด.91 คือ ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้ทางอื่น
เช็กอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560
เงินได้ที่ได้รับในปี 2560 จะใช้โครงสร้างแบบใหม่ คือปรับอัตราการเสียภาษีในช่วงร้อยละ 30 และร้อยละ 35 ดังนี้
จากตารางนี้แสดงว่าหากใครมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 310,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนส่วนตัวรวม 160,000 บาทแล้ว จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี
แต่หากใครมีรายได้สุทธิมากกว่า 310,000 บาท แสดงว่าเราต้องยื่นภาษี แต่จะเสียภาษีมาก-น้อยแค่ไหนนั้น ต้องคิดคำนวณจากค่าลดหย่อนด้วย โดยมีวิธีคำนวณภาษีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัว
นำรายได้ตลอดทั้งปีมาหักค่าใช้จ่าย แยกตามประเภทของรายได้ และหักลดหย่อนตามรายการต่าง ๆ เพื่อหารายได้สุทธิ
ตัวอย่างที่ 1
หากนาย A มีรายได้ทั้งปี 600,000 บาท จะต้องหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นดังนี้
– หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท
จะเหลือรายได้สุทธิ 500,000 บาท
ขั้นตอนที่ 2 นำรายได้ที่เหลือมาหักค่าลดหย่อน
จากนั้น ลองสำรวจดูว่าเรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วนำค่าลดหย่อนนั้นมาลบออกจาก 500,000 บาท
เช่น หากปีนี้ นาย A ซึ่งมีภรรยา 1 คน มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว แต่ไม่มีบุตร จ่ายประกันสังคมไป 9,000 บาท, มีบิดาอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ต้องเลี้ยงดู 1 ท่าน, ซื้อ LTF ไป 50,000 บาท ก็สามารถนำค่าลดหย่อนทั้งหมดมาหักออกจาก 500,000 บาท ดังนี้
– หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
– หักค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
– หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
– หักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา 1 คน จำนวน 30,000 บาท
– หักค่าซื้อ LTF ไป 50,000 บาท
รวมหักไป 209,000 บาท
จะเหลือรายได้สุทธิ 291,000 บาท
ขั้นตอนที่ 3 นำรายได้สุทธิที่ได้ มาเทียบอัตราภาษี
ปัจจุบันใช้วิธีเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งอัตราภาษีในปี 2560 เป็นดังนี้
อัตราภาษีแบบขั้นบันได
– รายได้ 0-150,000 ยกเว้นอัตราภาษี
– รายได้ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% (ภาษีที่ต้องเสียสูงสุดในขั้นนี้คือ 7,500 บาท)
– รายได้ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 20,000 บาท)
– รายได้ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 37,500 บาท)
– รายได้ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 50,000 บาท)
– รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 250,000 บาท)
– รายได้ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 600,000 บาท)
– รายได้ 5,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
กรณีของนาย A มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 291,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 5% แต่ในจำนวนนี้ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี จึงคงเหลือส่วนที่ต้องเสียภาษีอยู่ที่ (291,000-150,000) = 141,000 บาท ที่อัตรา 5% คิดเป็นเงินภาษี 7,050 บาท
ตัวอย่างที่ 2
นางสาวบี ยังไม่ได้แต่งงาน ทำงานมีรายได้รวมทั้งปี 350,000 บาท ส่งเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท ซื้อประกันชีวิตไว้ 30,000 บาท บริจาคเงินช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ 2,000 บาท บริจาคเงินเข้าโครงการก้าวคนละก้าว จำนวน 2,000 บาท
คำนวณภาษีได้ดังนี้
– หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท
– หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
– หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
– หักค่าซื้อประกันชีวิต 40,000 บาท
– หักเงินบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ได้ 1.5 เท่า คือ (2,000×1.5) = 3,000 บาท
– หักเงินบริจาคเข้าโครงการก้าวคนละก้าว คือ 2,000 บาท
รวมหักค่าลดหย่อนไป 214,000 บาท
ดังนั้น รายได้สุทธิของนางสาวบี คือ 350,000-214,000 เท่ากับมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 136,000 บาท จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2560 เพราะรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทจะได้รับการยกเว้น
ตัวอย่างที่ 3
นายซี ทำงานมีรายได้รวมทั้งปี 800,000 บาท ปัจจุบันหย่า แต่เลี้ยงดูบุตรอายุ 6 ขวบ และ 4 ขวบ ส่งเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท ซื้อประกันชีวิตไว้ 50,000 บาท เลี้ยงดูบิดา-มารดา 2 คน คำนวณภาษีได้ดังนี้
– หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท
– หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
– หักค่าลดหย่อนบุตร 2 คน รวม 60,000 บาท
– หักค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา 2 คน รวม 60,000 บาท
– หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
– หักค่าซื้อประกันชีวิต 50,000 บาท
รวมหักค่าลดหย่อนไป 339,000 บาท
จะเหลือรายได้สุทธิ 800,000-339,000 = 461,000 บาท จึงต้องเสียภาษีที่ขั้น 10% ซึ่งคำนวณแต่ละขั้นได้ดังนี้
– 150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี
จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณ (461,000-150,000) = 311,000 บาท
– ส่วนต่อมาเสียภาษี 5% ซึ่งจำนวนเงินภาษีของฐาน 5% คือ 7,500 บาท
จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณต่อที่ฐาน 10% (311,000-150,000) = 161,000 บาท
– เงินส่วนที่เหลือ 161,000 บาท นำมาคิดภาษีที่ฐาน 10% จะเท่ากับ 16,100 บาท
นำเงินภาษีแต่ละขั้นมารวมกัน (7,500+16,100) เท่ากับนายซีต้องเสียภาษี 23,600 บาท
หรือถ้าบางคนยังงง ๆ กับการคิดภาษีของนายซีว่าทำไมต้องคิดที่ฐาน 5% ด้วย แล้วจะคิดฐาน 10% ทีเดียวเลยไม่ได้เหรอ งั้นลองมาคิดง่าย ๆ ที่ฐาน 10% ทีเดียวเลยก็ได้ค่ะ
ก็คือ นายซีมีเงินได้สุทธิ 461,000 บาท ก็จะตกฐานภาษี 10% ดังนั้นนายซีต้องจ่ายภาษีสะสมในขั้น 5% คือ 7,500 บาทแล้วแน่ ๆ
ทีนี้ส่วนที่เหลือคือ เงินได้สุทธิ – 300,000 จะเท่ากับ 461,000-300,000 = 161,000 ให้นำมาคิดที่ฐาน 10%
ดังนั้น 10% ของ 161,000 บาท จะเท่ากับ 16,100 บาท เมื่อรวมกับภาษีสะสมของขั้น 5% คือ 7,500 บาท จะเท่ากับว่านายซีต้องเสียภาษี 7,500+16,100 = 23,600 บาทเช่นกันค่ะ
ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ สำหรับวิธีคำนวณภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปี หรือถ้าหากใครไม่อยากเสียเวลากับการนั่งคิดเลขที่ละตัว ก็สามารถใช้ตัวช่วยได้ค่ะ โดยมีโปรแกรมคำนวณภาษีให้ลองไปใช้กัน เช่น
– kasikornasset.com
– set.or.th
– krungsri.com
– gpf.or.th
– tiscoasset.com
อ้อ ! สำหรับใครกำลังจะยื่นภาษีออนไลน์ด้วยตัวเอง เข้าไปดูได้ที่ “12 ขั้นตอนยื่นภาษีด้วยตัวเองทางออนไลน์ มือใหม่ก็ทำได้ ง่ายกว่าที่คิด !”
ตรวจสอบการขอคืนภาษี
หลังจากยื่นเอกสารไปแล้ว 1 วันทำการ สามารถสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ได้ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร สอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี
หลังจากนั้นอย่าลืมยื่นภาษีให้ทันเวลาด้วยนะคะ โดยสามารถยื่นแบบภาษีได้ตั้งแต่เดือนมกราคมของทุกปี ยิ่งยื่นก่อนก็ยิ่งได้เงินคืนเร็วจ้า
***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 11.19 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสรรพากร และ https://money.kapook.com