ประกันชั้น 1

โดนใบสั่งจ่ายค่าปรับได้ที่ไหน ถ้าไม่จ่ายโดนอะไรบ้าง? - 2567


โดนใบสั่งจ่ายค่าปรับได้ที่ไหน 2567 ถ้าไม่จ่ายโดนอะไรบ้าง

ขับรถแล้วพลาดท่าทำผิดกฎจราจร รู้ตัวอีกทีใบสั่งก็มาถึงบ้านซะแล้ว แต่คงไม่มีใครอยากไปโรงพักเพื่อจ่ายค่าปรับกันบ่อยๆ อัปเดตล่าสุด! ตอนนี้มีวิธีการเสียค่าปรับที่สะดวกกว่าเดิมเยอะเลย มีวิธีไหนบ้างไปดูกันเลย

ไม่อยากไปสถานีตำรวจ จ่ายค่าปรับได้ที่ไหนบ้าง?

ในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสามารถใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างสะดวกมากขึ้น ทางกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้เพิ่มช่องทางในการจ่ายค่าปรับจราจรที่ง่ายกว่า โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพัก โดยประชาชนสามารถจ่ายค่าปรับผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

1. จ่ายที่ธนาคารกรุงไทย

โดยสามารถนำใบสั่งที่มีแถบบาร์โค้ดมาทำรายการผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารได้ ดังนี้

  • จ่ายออนไลน์ ด้วยแอปพลิเคชัน “Krungthai NEXT” ขั้นตอนคือ เลือกเมนู “จ่ายเงิน” >> เลือกแท็บ “ยอดนิยม” >> พิมพ์ค้นหา “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” >> กรอกข้อมูลใบสั่ง และหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก
  • เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
  • ตู้ ATM และตู้ ADM กรุงไทย ขั้นตอนคือ เลือกเมนู “ค่าปรับจราจร” >> เลือกบัญชีเงินออมทรัพย์ >> ใส่หมายเลขที่ใบสั่ง

2. เคาน์เตอร์เซอร์วิซ (Counter Service)

ชำระได้ผ่านเคาน์เตอร์เวอร์วิซที่อยู่ใน เซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขาใกล้บ้านคุณ

3. ตู้บุญเติม

ขั้นตอนคือ เลือกเมนู “จ่ายบิลและค่าสินค้า” >> เลือก “ชำระค่าปรับ” (ใบสั่งต้องมีแถบบาร์โคด)

4. แพลตฟอร์ม CenPay

ของเครือ CENTRAL Group เช่น แฟมิลี่ มาร์ท, Tops, เซ็นทรัล, โรบินสัน, บีทูเอส, ไทวัสดุ, HomeWork, Power Buy และ Super Sports เป็นต้น

5. ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ

หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าที่ทำการไปรษณีย์ก็รับจ่ายค่ารับจราจรได้ โดยสามารถชำระได้ทุกสาขาทั่วประเทศไทย

6.จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์

ปัจจุบันกรมขนส่งเพิ่มช่องทางในการชำระค่าปรับจราจรได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ได้ทั้งผ่านทางระบบ Mobile Banking และ QR CODE พร้อมทั้งรองรับการชำระผ่านเว็บไซต์ https://ptm.police.go.th/ ผ่านช่องทางบัตรเดบิตและบัตรเครดิต

ประกันรถยนต์ชั้น 1 เบี้ยเริ่มต้นที่ 750 บาท

ถ้าไม่จ่ายค่าปรับจราจร มีโทษอะไรบ้าง?

กรณีได้รับใบสั่งต้องชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกใบสั่ง หากไม่ตอบรับภายใน 15 วัน มีสิทธิ์โดนออกหมายเรียก มากไปกว่านั้นถ้าเพิกเฉย 2 ครั้งติด คราวนี้เจ้าหน้าที่จะยกระดับส่งเรื่องยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับ และทางเจ้าพนักงานก็จะทำการอายัดทะเบียนและแจ้งข้อหาเพิ่มคือข้อหาไม่มารายงานตัวภายในเวลาที่กำหนด เปรียบเทียบปรับไม่เกิน 1,000 บาท จึงกลายเป็น 2 ข้อหา

ไม่จ่ายค่าปรับจราจร ต่อภาษีรถยนต์ได้มั้ย

หากว่ากันตามเงื่อนไขที่ออกมาใหม่เมื่อ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ทางกรมการขนส่งทางบกระบุไว้ว่า ถ้าไม่จ่ายค่าปรับจราจรตามที่กำหนดสามารถต่อภาษีประจำปีได้ แต่นายทะเบียนจะไม่ออกป้ายภาษีตามปกติให้ โดยจะออกป้ายภาษีชั่วคราวมาแทนซึ่งมีอายุ 30 วัน เมื่อคุณจ่ายค่าปรับที่ค้างเรียบร้อยจึงจะสามารถรับป้ายภาษีได้ตามปกติ

ถ้ายังดื้อไม่ยอมจ่ายและใช้ป้ายภาษีชั่วคราวเกินกำหนด เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกตรวจมีโทษปรับ 2,000 บาท และถูกตัดคะแนนใบขับขี่ 1 คะแนน ตามระเบียบของ กฎหมาย พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522

ไม่จ่ายค่าปรับจราจร มีโอกาสโดนพักใช้ใบขับขี่มั้ย

กรณีไม่จ่ายค่าปรับจราจรมีโอกาสทำให้โดนพักใช้ใบขับขี่ได้ เพราะอาจทำให้ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ได้ตั้งแต่ 1-3 คะแนน จากการไม่จ่ายค่าปรับตามกำหนด และรูปแบบการกระทำความผิดตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยทุกคนมีคะแนนติดตัว 12 คะแนน หากถูกตัดคะแนนจนหมดจะถูกพักใบใช้ใบขับขี่อย่างต่ำ 90 วัน และต้องเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบกตามระเบียบ

สรุปเกี่ยวกับการจ่ายค่าปรับจราจร

การเคารพกฎจราจรเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถทุกคนต้องให้ความสำคัญ เมื่อเราทำผิดการจ่ายค่าปรับจราจรคือเงื่อนไขที่ทุกคนควรให้ความเคารพ หากฝ่าฝืนจะเห็นได้ว่ามีโทษปรับและผลกระทบต่าง ๆ ตามมาได้ เสียทั้งเงินและประวัติความประพฤติของตัวคุณเอง ดังนั้นควรขับขี่อย่างมีสติไม่ฝ่าฝืนกฎเพื่อความปลอดภัยต่อตัวคุณและเพื่อนร่วมทาง สำหรับใครกำลังมองหาประกันภัยรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองครบ ๆ ตามไลฟ์สไตล์ของคุณ SILKSPAN พร้อมให้บริการด้วยกรมธรรม์จากบริษัทชั้นนำมากมาย สนใจเข้าไปเลือกกรมธรรม์ผ่านเว็บไซต์ของเราได้เลย


เขียนโดย : SILKSPAN ADVISOR
เผยแพร่วันที่ : 04/01/2024
โปรโมชั่นแนะนำ
“เช็คเบี้ยกับเราซิคะ”